โซล่าปั๊ม(Solar Pump)
ส่วนใหญ่แล้วปั๊มน้ำที่ใช้งานกับระบบโซล่าเซลล์จะแบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่ ปั๊มที่มีการแทนที่ของของไหล(Positive Displacement Pump) กับ ปั๊มแรงเหวี่ยงหนีศูนย์(Centrifugal Pump) และปั๊มสองชนิดนี้สามารถแยกย่อยได้อีกสองประเภทคือ แบบดูดบนผิวน้ำ(surface mount) กับแบบจุ่ม(Submersible) โดยแหล่งน้ำที่ใช้ของท่านสามารถเป็นแบบบ่อน้ำตื้นๆหรือเป็นแบบบ่อลึกก็ได้ เพียงแต่เลือกประเภทของปั๊มน้ำให้เหมาะสม ถ้าเป็นบ่อน้ำตื้นควรเลือกปั๊มแบบดูดบนผิวน้ำ แต่ถ้าเป็นบ่อลึกควรเลือกปั๊มที่เป็นแบบจุ่ม ส่วนการเลือกชนิดของปั๊มน้ำว่าจะใช้ปั๊มที่มีการแทนที่ของของไหล หรือ ปั๊มแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ จะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้น้ำต่อวันและระยะรวมของหัวน้ำ(TDH)
รูปที่1 ปั๊มที่มีการแทนที่ของของไหล
รูปที่2 ปั๊มแรงเหวี่ยงหนีศูนย์
โดยทั่วไป ปั๊มที่มีการแทนที่ของของไหล เช่นปั๊มที่มีไดอะแฟรม, ลูกสูบ, โรเตอร์ ฯ จะเหมาะสมกับการใช้ที่มีระยะรวมของหัวน้ำที่มากและมีปริมาณการใช้น้ำต่อวันที่ต่ำ และคุณสมบัติอีกอย่างของปั๊มชนิดนี้คือจะใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงานที่ต่ำกว่าปั๊มแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ จึงทำให้แม้สภาพอากาศที่มีเมฆมาก ปั๊มที่มีการแทนที่ของของไหลก็ยังสามารถทำงานได้ แต่ปั๊มแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์จะไม่ทำงาน
ปั๊มแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์จะเหมาะกับการใช้ที่มีระยะรวมของหัวน้ำที่ต่ำและมีปริมาณการใช้น้ำต่อวันที่สูง ข้อเสียอย่างหนึ่งของปั๊มชนิดนี้คือจะต้องตัวปั๊มจะต้องมีความเร็วรอบที่สูงพอที่จะขับน้ำออกไปจากบ่อได้ ถ้าสภาพอากาศมีเมฆมากจะทำให้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์มีกำลังต่ำลงจนไม่สามารถทำให้ปั๊มมีแรงขับพอที่จะส่งน้ำออกจากบ่อได้ถึงแม้ตัวปั๊มจะหมุนที่รอบต่ำก็ตาม
รูปที่3 โซล่าแทรกเกอร์
วิธีที่จะแก้ไขข้อเสียของปั๊มแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ก็คือการติดตั้งโซล่าแทรคเกอร์(Solar Tracker)เข้าไปในระบบจะทำให้แผงโซล่าเซลล์สามารถหันไปตามแสงของพระอาทิตย์ได้ทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอที่จะสามารถขับปั๊มแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ให้มีความเร็วรอบที่เพียงพอที่จะส่งน้ำได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณน้ำที่เก็บได้ต่อวันอีกด้วย