การคำนวณค่าไฟฟ้า

การคำนวณค่าไฟฟ้า

การที่จะประหยัดไฟฟ้าภายในบ้านได้นั้น ถ้าไม่รู้ว่าค่าไฟเขาคิดคำนวณยังไงก็เป็นการยากที่เราจะรู้ว่าพลังงานที่เราลดได้นั้นประหยัดไปกี่บาท และที่สำคัญในกรณีที่มาตรการประหยัดไฟของเรามีการลงทุนเกิดขึ้น เราก็จะไม่รู้เลยว่าจุดคุ้มทุนของเงินที่เราลงไปนั้นจะกลับคืนมาเมื่อไร ดังนั้นแล้วการคำนวณค่าไฟเป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเป็นอันดับแรก

คำนวณค่าไฟ

อัตราค่าไฟฟ้า

การคิดอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านั้นจะแบ่งออกตามแต่ละประเภทของผู้ใช้งาน ได้เป็น 8 ประเภทด้วยกัน

ซึ่งแต่ละประเภทก็มีแก่นในการคิดค่าไฟฟ้าเหมือนกัน แต่อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยหรืออัตราที่ต่างกันบ้างเล็กน้อย

ถ้าเข้าใจวิธีการคิดค่าไฟฟ้าประเภทใดประเภทหนึ่งแล้วก็จะทำความเข้าใจในประเภทอื่นๆ ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ประเภทของการคิดค่าไฟฟ้าที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นประเภทที่ 1 คือ บ้านพักอาศัย

การไฟฟ้าได้นิยาม อัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย ไว้ว่า “ลักษณะการใช้  สำหรับการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย วัดและโบสถ์ของศาสนาต่าง ๆ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง โดยต่อผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องเดียว”

และได้แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย (อ้างอิงปี2559) ได้แก่

  • อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน หมายความว่า ถ้าพนักงานการไฟฟ้ามาจดค่าจากมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านเรา หักลบกันแล้วไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน การคิดค่าไฟจะตกที่ประเภทอัตรา 1.1 นี้ (1 หน่วยเท่าใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) พูดง่ายๆก็คือเปิดแอร์ขนาด 1000 วัตต์เป็นเวลา 1 ชั่วโมงนั่นเอง)
  • อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน หมายความว่า เราใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนขึ้นไปการคิดค่าไฟฟ้าก็จะเป็นอัตราแบบประเภท 1.2
  • อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time Of Use Tariff : TOU) โดยปกติแล้วบ้านทั่วไปจะไม่ใช้ประเภท 1.3 นี้เนื่องจากว่าต้องไปขอการไฟฟ้าให้มาติดมิเตอร์พิเศษแทนมิเตอร์วัดไฟฟ้าเดิม ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง เนื่องจากว่าการคิดอัตราค่าไฟแบบนี้จะต้องบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าตามแต่ละช่วงเวลาที่กำหนดไว้ด้วย จ-ศ เวลา 09.00-22.00น จะเรียกว่าช่วง On Peak (ออนฟีค) คือช่วงเวลาที่มีคนใช้ไฟฟ้าโดยรวมมาก, จ-ศ เวลา 22.00-09.00น และ ส-อา เวลา 00.00-24.00น จะเรียกว่าช่วง Off Peak(ออฟฟีค) คือช่วงเวลาที่คนใช้ไฟฟ้าในปริมาณไม่มาก ในกรณีที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อเดือนในจำนวนไม่มาก ก็จะไม่ควรเปลี่ยนเป็นการคิดอัตราค่าไฟตามประเภท TOU นี้

อัตราค่าไฟฟ้าในประเภท1.3นี้ ช่วงชั่วโมงออนฟีคจะสูงกว่าช่วงออฟฟีค ดังนั้นถ้าบ้านไหนใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนเป็นจำนวนมากแต่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเป็นจำนวนน้อย ควรพิจารณาติดต่อการไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU จะได้เสียค่าไฟฟ้าน้อยกว่าเดิม

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมการไฟฟ้าต้องมีการคิดอัตราไฟฟ้าแบบที่ 1.3 นี้ขึ้นมาด้วย ก็เนื่องจากว่าการไฟฟ้าต้องการจะจูงใจผู้ใช้ไฟฟ้าบางส่วนใหญ่ให้หันไปใช้ไฟฟ้าในยามออฟฟีคที่มีคนใช้ปริมาณไฟฟ้าโดยรวมน้อย เพื่อที่จะเฉลี่ยค่าออนฟีคให้ต่ำลงมาใกล้เคียงกับค่าออฟฟีคให้ได้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องปรับปรุงระบบหรือสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงออนฟีคที่สูงขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่างการคำนวณค่าไฟฟ้า

สมมติให้บ้านมีอัตราปริมาณการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 825 หน่วยต่อเดือน (1หน่วยเท่ากับ 1 กิโลวัตต์อาวด์)

จะต้องใช้การคิดค่าไฟฟ้าในประเภท 1.2 โดย (อัตราค่าไฟฟ้า กพ 2559)

อัตรา 150 หน่วยแรก หน่วยละ 3.2484 บาท => 150*3.2484 = 487.26 บาท

อัตรา 151-400 หนวยต่อมา หน่วยละ 4.2218 บาท => 250*4.2218 = 1,055.45 บาท

อัตราเกิน 400 หน่วย หน่วยละ 4.4217 บาท => 425*4.4217 = 1,879.22 บาท

ค่าเอฟที(Ft)การปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หน่วยละ -4.82 สตางค์ => 825*(-0.0482) =

-39.765 บาท

ค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซนต์

รวมค่าไฟฟ้า (487.26+1,055.45+1,879.22-39.765+38.22)*1.07 = 3,659.81 บาท

สามารถดูอัตราค่าไฟฟ้าตามประเภทต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ตัวอย่างตารางคำนวนค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 บ้านพักอาศัย

ค่าไฟฟ้าประเภท1.2 ราคาต่อหน่วย(บาท) จำนวนหน่วยที่ใช้(หน่วย) ราคา(บาท)
หน่วยที่ 1-150 3.2484 150 487.26
หน่วยที่ 151-400 4.2218 250 1,055.45
ตั้งแต่หน่วยที่ 401 4.4217 425 1,879.22
ft -0.0482 825 -39.765
ค่าบริการรายเดือน 38.22
รวมค่าใช้จ่ายเบื้องต้น 3420.385
Vat 7% 239.426
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด (บาท) 3659.81