การต่อแผงโซล่าเซลล์หลายแผงเข้าด้วยกัน

การต่อแผงโซล่าเซลล์หลายแผงเข้าด้วยกัน

โดยปกติแล้วการต่อแผงโซล่าเซลล์เข้าด้วยกันนั้น จะต้องรู้ก่อนว่าขนาดของระบบที่เราออกแบบมาจะใช้งานที่แรงดันไฟฟ้าเท่าไรให้สอดคล้องกับกำลังไฟฟ้าที่จะใช้งาน(แนะนำการเลือกใช้งานแรงดันระบบ) โดยทั่วไปแล้วจะใช้ที่แรงดัน 12 , 24, 48และ 120 โวลท์เป็นหลัก ดังนั้นการต่อแผงโซล่าเซลล์จะต้องเลือก เครื่องควบคุมการชาร์จ แบตเตอรี่ และโหลดให้มีความสอดคล้องร่วมกันด้วย

การต่อแผงโซล่าเซลล์มีอยู่สองแบบด้วยกัน

1.) การต่อแบบอนุกรม – คือนำขั้วบวกของโซล่าเซลล์แผงหนึ่งมาต่อกับขั้วลบอีกแผงหนึ่งไปเรื่อยๆ จนได้แรงดันตามระบบที่ออกแบบไว้ การต่อแบบอนุกรมนี้จะทำให้แรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่กระแสในระบบจะเท่าเดิม ตัวอย่าง ถ้ามีโซล่าเซลล์แรงดัน 12 โวลท์ กระแส 2.5 แอปม์*2แผง มาต่ออนุกรมกันจะได้แรงดันรวมอยู่ที่ 24 โวลท์และกระแสรวม 2.5แอมป์

การต่อแผงโซล่าเซลล์

2.) การต่อแบบขนาน – คือนำขั้วบวกของโซล่าเซลล์แผงหนึ่งไปต่อกับขั้วบวกของโซล่าเซลล์อีกแผงหนึ่ง และนำขั้วลบแผงหนึ่งไปต่อกับขั้วลบอีกแผงหนึ่ง การต่อแบบนี้จะทำให้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่แรงดันเท่าเดิม ตัวอย่างถ้ามีแผงโซล่าเซลล์ตามสเปคข้างบน 2 แผงนำมาต่อแบบขนานจะได้แรงดันรวมของระบบ 12 โวลท์และกระแสไฟฟ้ารวม 5 แอมป์(2.5แอมป์*2)

การต่อแผงโซล่าเซลล์

สังเกตุว่าการต่อแผงโซล่าเซลล์ทั้งสองแบบนี้ จะได้ค่าของกำลังไฟฟ้าออกมาเท่ากันคือ (24V*2.5A) หรือ (12V*5A) = 60 วัตต์(ตัวอย่างแผงที่ยกมา โซล่าเซลล์หนึ่งแผงจะมีกำลังไฟฟ้า 30 วัตต์)ตามสูตรพื้นฐานไฟฟ้าง่ายๆคือ P=V*I โดย P=กำลังไฟฟ้า(วัตต์), V=แรงดันไฟฟ้า(โวลท์) , I=กระแสไฟฟ้า(แอมป์)

ถ้าระบบที่เราจะนำแผงโซล่าเซลล์ไปต่อเป็นแบบแยกเดี่ยวที่ต่อตรงเข้ากับแบตเตอรี่และโหลดกระแสตรงเลย เราจะต้องต่อแผงโซล่าเซลล์ให้มีแรงดันรวมที่ผลิตออกมาจากแผงมากกว่าแรงดันของแบตเตอรี่ประมาณ1.4-1.5เท่า โซล่าเซลล์ถึงจะชาร์จประจุเข้า เช่นแบตเตอรี่มีแรงดันไฟฟ้า 12 โวลท์ จะต้องมีแรงดันจากแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 16.8-18โวลท์(Vmp)

แต่ถ้าระบบที่เราออกแบบเป็นแบบต่อร่วมกับเครื่องควบคุมการชาร์จ ให้เราต่อแผงโซล่าเซลล์ให้มีแรงดันใกล้เคียงกับสเปคของตัวเครื่องควบคุมการชาร์จได้เลย

เมื่อรู้วิธีการต่อแผงโซล่าแล้ว การเลือกแรงดันระบบก็ถือเป็นอีกสิ่งที่ต้องรู้เพื่อจะทำให้ระบบทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก

ข้อควรระวัง

การต่อแผงโซล่าเซลล์แบบอนุกรมควรระวังอย่าให้มีเงามาตกกระทบบดบังแสงที่จะส่งไปยังแผงโซล่าเซลล์ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมทั้งหมดของระบบลดลงหรือถึงขั้นไฟฟ้าไม่สามารถผลิตขึ้นได้ เปรียบเหมือนกับท่อน้ำที่ถูกตัดระหว่างทางทำให้ไม่สามารถส่งน้ำไปยังปลายทางได้ ทั้งนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการต่อบายพาสไดโอดขนานกับแผงหรือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ให้หลีกเลี่ยงเงาที่จะตกกระทบลงบนแผง

นอกจากนี้ การต่อแผงโซล่าเซลล์ในระบบเข้าด้วยกัน จะต้องเลือกแผงโซล่าเซลล์และอุปกรณ์โดยรวมให้มีขนาดเหมาะสม มิฉะนั้นแล้วจะทำให้อุปกรณ์ระบบเกิดความเสียหายหรือผลิตไฟฟ้าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มเติมตามมาอีกมากมาย

การออกแบบระบบตาม คู่มือการออกแบบ ติดตั้งและใช้งานระบบโซล่าเซลล์ ที่ดีจะสามารถป้องกันปัญหาที่กล่าวมาและทำให้เราผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขี้น

69 thoughts on “การต่อแผงโซล่าเซลล์หลายแผงเข้าด้วยกัน

  1. ถ้าเป็นต่อขนาดกับแผงที่วัตต์ไม่เท่ากัน จะได้ใหม เข่น แผงโซล่า 12v 50w ต่อขนานกับ 12v 20w จะได้กำลังไฟเท่าไหร่ และมีผลเสียต่อดอนโทรลชาร์เจอร์ใหม

    1. ต่อได้ครับ ได้กำลังไฟรวมเท่ากับสองแผงรวมกัน
      แต่ไม่แนะนำให้ต่อแบบนี้เนื่องจากกระแสที่ไหลในแต่ละแผงไม่เท่ากัน ทำให้แผงหนึ่งร้อนกว่าอีกแผง ระยะยาวอาจจะมีปัญหากับแผงได้

  2. ถ้าแผงโซล่า 310w 24v 2 แผง มาต่อกับ control chager 24v แต่มาต่อกับแบต 12v จะได้ไหมครับ

  3. ผมมีแผงโซล่าเซล3แผงขนาด 150w = 450w ต่อแบบขนาน ผ่านตัวคุมไฟ Cm20d
    ต่อลงแบตแบบขนาน12v 150ah 3ลูก

    เพราะอะไรครับ ทำไมภายใน1วันถึงชาร์ตแบต ไม่เคยเต็มซักที อยู่ที่ 12.5-12.7 v ตลอดครับไม่เคยเต็มถึง 13.6v นอกจากไม่ใช้ไฟเลย ชาร์ท 2วัน ถึงจะได้ 13.2-13.4v ครับ ผมต้องแก้ไขตรงไหนครับ. ขอบคุณครับ

    1. ดูจากตัวเลขที่ให้มา ระบบน่าจะผลิตไฟได้ประมาณวันละ 1.8 หน่วย ถ้าชาร์ทสองวันเต็มก็หมายความว่าน่าจะมีปริมาณการใช้ไฟมากกว่าที่ผลิตได้ครับ
      ไม่ทราบว่าระบบใช้ไฟวันละกี่หน่วยครับ

  4. ใช้หลอดไฟ 12v ต่อเข้ากับแบตเตอรี่ 6หลอด ชาร์ตแบตมืถือ เพียงเท่านี้ครับ

    ส่วนค่าในตัวคุมไฟผมเชตเป็นแบบนี้ครับ
    Setup the Charge off voltage of battery
    ค่าเดิมคือ 13.6 ผมเพิ่มเป็น 14.3

    Setup the Load-off Voltage of loads
    ค่าเดิมคือ 10.5 ผมเพิ่มเป็น11.5

    Setup the Load-on voltage of loads
    ค่าเดิมคือ 12.6 ผมเพิ่มเป็น 13.7

    พอกดเชตค่าที่เพิ่มใหม่ จากตอนแรก ตัวคุมไฟแจ้งว่าแบตเตอรี่เต็ม 100% กลับตกลงมาเหลือ 54% ซึ่งก็ใกล้เคียงกับแรงดัน(v)ภายในแบตเตอรี่ ที่มีอยู่นะครับ. ค่าที่ผมเพิ่มเข้าไปไม่รู้ถูกหรือปล่าวครับ

    1. ถ้าเป็นหลอด 9 วัตต์ 6 หลอด เปิด 24 ชม ก็ประมาณ 1.3 หน่วย ไม่นาจะเกินที่ผลิตได้ครับ
      .
      แผงโซล่าหนึ่งแผงน่าจะผลิตไฟได้ช่วง mpp ประมาณ 9 แอมป์ 3 แผงรวมกันก็ประมาณ 27 แอมป์
      .
      อาจจะดูที่ขนาดชาร์จคอนโทรลเลอร์ ต้องให้ขนาดสูงกว่าที่แผงรวมกันผลิตได้ครับ
      .
      หรืออาจลองเซ็ตชาร์จคอนโทรลเป็นแบบปกติ แล้วดูสถานะการชาร์จจะแตกต่างกันไหมครับ

    2. ถึงคุณกอล์ฟจากแผง450w ตีว่ามีสูญเสีย ด้วยอาจจะได้400w หาร18v ได้กระแส เท่ากับ22.2แอมป์ รับ แดดได้เต็มๆประมาณ5ชม. ได้22.2×5= 111แอมป์เองทั้งวัน ดังนั้น แบต150แอมป์ลูกเดียว ทั้งวันก็ไม่เต็มถ้า ใช้ไฟจนหมด ระบบตอนนี้มีเงื่อนไงจากแผงที่ได้ไฟ วันละ111แอมป์ ชม ทั้งวัน ดังนั้นโหลดที่ต่อ คำนวนแล้วตลอดเวลาที่ใช้งานจงถึงชาร์จใหม่ต้องใช้กระแส สะสม ไม่เกิน111แอมป์ แต่จริงๆควรแค่ 100แอมป์พอเผื่อการสูญเสียด้วย ทีนี้ไม่มีข้อมูลหลอดมาผมเลยช่วยคิดไม่ได้

      ทางแก้ไขนะครับ ลองคำนวนโหลดดูเกิน100แอมป์ไหมทั้งคืนถ้าเกินต้องลด ไม่งั้นไม่มีทางเต็ม
      แต่ถ้าไม่เกิน การต่อแบตขนานกัน3ลูกดีแล้ว เพราะให้มันแบ่งจ่าบกระแสกันจะได้ไม่เกิดซัลเฟตเร็วทำให้แบตเสื่อม แต่ควรปิดระบบจนไฟเต็มจริงๆก่อน

      ทางเพิ่มเติมที่เพิ่มประสิทธิภาพอีกนะครับเท่าที่ดู ต่อแผง แบบขนานวัตต์สูงๆแบบนี้แล้วกระแสเยอะมาก แบบนี้ การสูญเสียในสายเยอะมากๆ ต้องใช้สายโตมากๆๆสำหรับกระแส22แอมป์ ทางออกต้องเปลี่ยนชาร์จเจอร์ใหม่เป็น mppt. ครับ แล้วแผงต่ออนุกรมกัน ได้ แรงดัน 18×3 =54v กระแสจะลดเหลือ 8.3แอมป์ แต่วัตต์ยังเท่าเดิม คือ450วัตต์ แล้วmppt จะแปลงวัตต์เป็นกระแสได้ 450หาร 14ซึ่งคือโวลล์แบตได้กระแสชาร์จ32แอมป์ซึ่งมากกว่าเดิมอีก แต่ใช้งานจริงอาจไม่ถึงแต่รับรองมากกว่า ชาร์จเจอร์แบบเดิมที่เป็นpwm. ชึ่งถ้าใช้mppt จะยังคงใช้ ระบบ12v แบบเดิมได้ เพราะเครื่องจะแปลงไฟให้ ซึ่งแตกต่างจากชาร์จเจอร์pwm ที่ว่าไม่ว่าแรงดันแผงมาเท่าไรพอต่อแบตปุ๊บแรงดันเหลือเท่าแบตทันทีที่หายก็จะเป็นloss หมดตกคล่อมในแผงครับ

      1. ขอบคุณคุณเอกมากครับที่ร่วม comment ผมขออนุญาตเพิ่มเติมนะครับ
        ที่สำคัญสุดต้องดูโหลดว่าเราใช้มากกว่าผลิตไหมครับ
        ขอบคุณครับ

  5. แผง 12 v 150w 4 แผง ต่อรวมกับ แผง 24 v 320w 2 แผงได้รึเปล่าครับ ความต้องการของออนกริด 80v ครับ

    1. แผงที่ไม่ใช่ขนาดเดียวกัน ถึงแม้จะทำการต่อให้มีขนาดแรงดันระบบที่ใกล้เคียงกัน สามารถต่อได้ครับ
      แต่จะฉุดให้ระบบโดยรวมทั้งหมดแย่ลงครับ จะผลิตไฟได้น้อยลงมากและในระยะยาวแล้วอาจจะทำให้แผงในระบบเสียหายได้
      การต่อแบบผสมแผงกันแบบนี้จะทำให้เกิด mismatch ในระบบครับ

  6. ผมใช้แบต 12v , 7.2Ah จำนวน 6 ก้อนต่อแบบขนานกันเป็น 24v รวมแล้วประมาณ20Ah ควรใช้แผงกี่ w ในการชาร์ตให้เต็มใน 1วันครับ แต่แบตในสเปคให้ชาร์ตได้ไม่เกิน 2A ถ้าเพิ่มแผงโซล่าให้มีค่า w มากๆ ตัว contro charge จะควบคุมกระแสในการชาร์ตไหมเพื่อไม่ให้แบตเสื่อมเร็ว

    1. ถ้าแบต 7.2 แอป์ชั่วโมงต่อขนานกัน3 ชุดจะได้กระแสรวมทั้งหมด 21.6 แอมป์ชั่วโมง
      .
      ใช้แผงกี่แผงต้องดูว่าหนึ่งวันจะใช้ไฟไปกี่เปอร์เซนต์ของความจุแบตทั้งหมด และเลือกขนาดแผงโซล่ารวมให้เหมาะสม
      .
      ดูเหมือนแบตที่ใช้มีขนาดเล็กจะเป็นแบตแบบ shallow cycle battery คือเป็นแบตที่คลายประจุได้น้อย(คลายได้ประมาณ 20-40%) ของความจุแบต ถ้าคลายประจุมากกว่านี้แบตจะเสื่อมเร็ว
      .
      ถ้าสเปคให้ชาร์จแบตได้ไม่เกิน 2 แอมป์ก็ไม่ควรเกินนั้นครับ ความเลือกแผงให้มีขนาดเล็กตามข้อจำกัดของแบต(ถ้ายังจะใช้แบตตัวนี้อยู่)
      .
      ระบบควรเปลี่ยนไปใช้แรงดัน12โวลท์จะเหมาะสมกว่า เพราะจะมีแผงโซล่าที่ผลิตแอมป์ได้น้อยให้เลือกใช้อยู่ ควรเลือกแผงแบบ 12 โวลท์ ขนาดไม่เกิน 25 วัตต์ครับ

      1. พอจะมี controller charger ที่ไม่เกิน 10A และสามารถปล่อยโหลดได้ 24 ชม. บ้างครับ โดยที่ปล่อยให้แบตถูกใช้งานและเช้าวันใหม่ก็ชาร์ตต่อ

      2. มีครับคุณพระรามดวลปืน เครื่องควบคุมการชาร์จแบบ 12V 5A ก็มีครับ

  7. ขอสอบถามครับ…วางโครงการไว้คือ ใช้แผงแบบ mono 300w 24v จำนวน 10 แผง(ขนาน) ชาร์จเจอร์เป็น mppt ครับ(ใช้ขนาดเท่าไร) แบต Deep 12v 2ลูก(อนุกรม) และ inverter แบบใหน …(ตอนนี้ยังไม่มีไฟจากการไฟฟ้าคิดว่าจะขอขยายเขต แล้วจะต่อแบบออนกริด) ซึ่งต้องพึ่งตัวเองก่อน ขอบคุณครับ

    1. ถ้าต้องการติดตั้งโซล่าตามขนาดที่คุณ area13 ว่า 300 w 10 แผง จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 12 หน่วยต่อวัน ควรเลือกใช้แรงดันระบบ 48 โวลท์, solar charge controller ที่เลือกใช้ 48 V 60 A, battery ถ้าเลือก 12 V 200 ah 2 ลูกจะน้อยไปครับ เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อวันสูงกว่า ควรเลือก 8 ลูก อนุกรม 4 ลูก ขนาน 2 ชุด จะเผื่อวันที่ไม่มีแดดผลิตไฟและสามารถใช้ไฟได้อีก 1 วัน, inverter 48 V 3000 W ครับ. อุปกรณ์ต่างๆที่เลือกมาจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงครับเนื่องจากเลือกขนาดของแผงโซล่าเป็นแกนหลักในการเลือกอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ทำให้อุปกรณ์อื่นๆต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย
      .
      มีอีกวิธีคือให้เราเลือกตามขนาดระบบตามที่เราใช้ เช่นถ้าเราใช้โหลด 2.4 หน่วยต่อวัน ระบบจะเล็กลงมาก โซล่า 600 w ใช้แรงดันระบบ 24 โวลท์, charge controller 24 V 30 A, inverter 24 V 2000 W, batter deep cycle 12 v 200 ah 2 ลูกต่ออนุกรมกัน จะใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 2.4 หน่วยต่อวันและเผื่อวันที่ไม่มีแดดอีก 1 วันครับ
      .
      ทั้งนี้การเลือกระบบต้องดูว่าจะใช้ไฟเท่าไรต่อวันครับ ระบบถึงจะ sizing ได้เหมาะสมกว่าครับ
      .
      ส่วนเรื่องในอนาคตมีแนวโน้มที่จะติดแบบออนกริตก็ดีครับ แต่การเลือกระบบควรศึกษาให้ดีก่อนครับเพราะว่าระบบโซล่าเซลล์มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการลงทุนเบื้องต้นครับ
      .
      ขอบคุณครับคุณ area13

      1. ขออนุญาต สอบถามเพิ่มเติมครับ…
        “ถ้าต้องการติดตั้งโซล่าตามขนาดที่คุณ area13 ว่า 300 w 10 แผง จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 12 หน่วยต่อวัน ควรเลือกใช้แรงดันระบบ 48 โวลท์, solar charge controller ที่เลือกใช้ 48 V 60 A, battery ถ้าเลือก 12 V 200 ah 2 ลูกจะน้อยไปครับ เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อวันสูงกว่า ควรเลือก 8 ลูก อนุกรม 4 ลูก ขนาน 2 ชุด จะเผื่อวันที่ไม่มีแดดผลิตไฟและสามารถใช้ไฟได้อีก 1 วัน, inverter 48 V 3000 W ครับ. อุปกรณ์ต่างๆที่เลือกมาจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงครับเนื่องจากเลือกขนาดของแผงโซล่าเป็นแกนหลักในการเลือกอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ทำให้อุปกรณ์อื่นๆต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย”
        ถ้าผมใช้ ไฮบริด โซลาร์ อินเวอร์เตอร์ ขนาด 5000VA 4KW battery 48V สามารถแทน อุปกรณ์ 1. solar charge controller 2. inverter 48 V 3000 W ได้มั้ยครับ
        ผมต้องการใช้ไฟในบ้านและไฟสำหรับปั้มน้ำเกษตร ซึ่งที่ไร่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้นะครับ
        ขอบคุณมากครับ

      2. ได้ครับคุณ area13 ทดแทนได้ทั้ง solar charge controller และ inverter ครับ

  8. สอบถามหน่อยครับถ้าเอาแผงโซล่าเซล 80w 12v กับ 50w 12v ต่ออนุกรมกันให้ได้24v จะมีผลเสียกับ controller charge กับ battery ไหมครับ

    1. ต่ออนุกรมกันได้ครับ แต่ในระยะยาวจะมีผลเสียกับแผงโซล่าเนื่องจากกระแสไฟของแต่ละแผงที่ผลิตได้ไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดความร้อนในแผงเซลล์ที่ขนาดเล็กกว่าได้ อีกกรณีเรื่องค่าสัมประสิทธิ์การลดทอนจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากระบบไม่แมทช์กัน ทำให้กำลังไฟฟ้าขาออกที่ได้ลดลงครับ

      1. ขอบคุณครับ ถ้าแผงโซล่า มันต่ออนุกรม จำนวนวัตต์ จะรวมกันใช่ไหมครับ 80+50= 130วัตต์
        และ การคำนวณว่าวันนึงผลิตไฟฟ้าได้กี่หน่วยคิดยังไงครับ

  9. มีความรู้เรื่องไฟฟ้าเล็กน้อย สอบถามครับ
    มีแผงMono120watt. X. 4 แผง
    แบตdeep 125amp. X. 4 ลูก
    ที่ผ่านมาใช้วิธีแผงและแบตต่อขนานใช้charger 30amp.x2 เครื่อง Inverter 3000watt pure sine wave ใช้หลอดไฟ28watt4ดวงสลับกันเปิดเป็นส่วนใหญ่ ทีวี1.25A. 75watt. เปิดกลางคืนบางคืนครั้งละประมาณ1ชม. พัดลม46wattเปิดตอนกลางคืน10ชม. ไฟพอใช้ มีปัญหาไฟตกแป๊บนึงเมื่อเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น แต่ก็สามารถใข้ได้ จากนั้นอยากได้ตู้เย็น6คิว (110watt) จึงซื้อตัวInverter with built-in controller. 5000watt. มาใช้ แล้วเปลี่ยนวิธีการต่อแผงและแบตเป็นแบบอนุกรม ลองใช้ตู้เย็นเหมือนไฟไม่พอ. อันนี้พอเข้าใจได้ อาจต้องเพิ่มแผง/แบต แต่พอไม่ใช้ตู้เย็น ใช้ไฟเท่าเดิมกลับไม่พอ ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรครับ และถ้าต้องการใช้ตู้เย็นควรเพิ่มแบต/แผงเท่าไหร่และควรต่อแบบไหนดีครับ

    1. ระบบเดิมคุณ ksuwat
      มีโหลด 1.)หลอดไฟ 28w*4 ดวง เฉลี่ยเปิด 4 ชมต่อวัน, 2.)ทีวี 75w เปิด 1 ชมต่อวัน, 3.)พัดลม 46w เฉลี่ยเปิด 10 ชมต่อวัน
      รวมแล้วจะใช้ไฟประมาณ 1000 วัตต์ต่อวัน
      มีแผงโซล่าเซลล์ 120 วัตต์ 4 แผง รวม 480 วัตต์ ถ้ามีค่ารังสีอาทิตย์เฉลี่ย 4 ชมต่อวัน จะผลิตไฟได้ประมาณ 1920 วัตต์ต่อวัน
      ซึ่งดูจากตัวเลขแล้วก็ผลิตมากกว่าที่ใช้งาน ถ้าเป็นระบบเดิมก็จะไม่มีปัญหาครับ
      ส่วนเรื่องแบตเตอรี่ 125 แอมป์ 4 ลูก ที่มีก็รองรับอยู่แล้ว เพราะสามารถเก็บพลังงานได้ 6000 วัตต์

      ต่อไปถ้าเพิ่มตู้เย็นขนาด 110 วัตต์ เข้ามาซึ่งกินไฟค่อนข้างมาก เฉลี่ยให้ทำงานที่ 20 ชมต่อวัน จะกินไฟ 2200 วัตต์ต่อวัน
      ดังนั้นถ้ารวมโหลดเก่ารวมกับตู้เย็นที่เพิ่มเข้ามาจะกินไฟถึง 3200 วัตต์ต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่โซล่าเซลล์รวมเดิมผลิตได้

      ถ้าต้องการใช้งานตู้เย็น ควรเพิ่มแผงโซล่าเซลล์ขนาด 120 วัตต์(ยี่ห้อเดิม สเปคเดิม) 4 แผง
      ถ้ารวมกับของเดิมจะมีแผงโซล่าเซลล์ขนาด 120 วัตต์ 8 แผง ผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับ 3840 วัตต์ต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้ไฟต่อวันทั้งหมด

      สรุป
      ระบบใหม่นี้ควรใช้แรงดัน 24 โวลท์
      – เพิ่มแผงโซล่าเซลล์ 120 วัตต์ 4 แผง รวมของเดิมเป็น 8 แผง – ต่ออนุกรม 2 แผง ขนานกัน 4 ชุด
      – แบตเตอรี่ไม่ต้องซื้อเพิ่มใช้ของเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการต่อ เป็น ต่ออนุกรม 2 ลูก ขนานกัน 2 ชุด
      หลักๆก็มีประมาณเท่านี้ครับ

      ถ้ามีโปรแกรมการคำนวณระบบโซล่าเซลล์จะสะดวกและง่ายยิ่งขึ้นครับ
      เพราะเราจะสามารถปรับเปลี่ยนโหลดหรืออุปกรณ์ในระบบได้ง่ายและที่สำคัญคือเหมาะสมกับที่เราจะใช้งานจริงๆ
      ก่อนตัดสินใจไปซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพงครับ

      ขอบคุณครับ

      1. เพราะอินเวอร์เตอร์เป็นแบบ5000watt ระบบ48 จึงต้องวางระบบแผงกับแบตให้สอดคล้อง
        ตอนนี้มีเพิ่มแผง325watt x 2 แผง. แบต100Aอีก2ก้อน อยากถามว่าควรต่อแบตและแผงอย่างไร และต้องเพิ่มอะไรอีกหรือเปล่าครับ อนาคตจะเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก

      2. แรงดันระบบ แผงเดิม 120 วัตต์อนุกรมกัน 4 แผง ต่อขนานกับ แผง 325 วัตต์ 2 ชุด
        .
        แบตเดิม 4 ลูกต่ออนุกรมกัน อีกสองลูก 100 แอมป์อาวด์ที่มาใหม่ ถ้าจะต่อต้อง.ท้อเพื่มอีกสองลูกรวมเป็น 4 ลูกแล้วต่อขนานกับชุดเดิม
        .
        ควรมีเบรกเกอร์ก่อนเข้าอินเวอร์เตอร์เพราะสามารถตัดไฟจากแผงได้
        .
        การต่ออุปกรณ์ที่สเปคไม่ค่อยเหมือนกันมีผลทำให้ประสิทธิภาพระบบลดลง ผลิตไฟได้น้อยลงและมีผลกับอุปกรณ์ครับ

  10. เพิ่มเติม breakerจากแผงไปอินเวอร์เตอร์จำเป็นต้องมีไหมครับ แผง325watt. จำนวนวัตต์ที่ไม่เท่ากันจะมีผลอะไรไหมครับ

  11. แผง 325W x 5 แผง และ 310W x 1 แผง (ผู้ขายส่งผิด Spec มา 1 แผง)
    ถ้านำมาต่ออนุกรมกัน จะทำให้แผง 325W ผลิตไฟลดลงเท่ากับ 310W หรือเปล่าครับ

    1. ตัว 310 w ถ้านำไปต่อรวมกันจะเกิดปัญหา mismatch ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบแย่ลงครับ ควรใช้แผงสเปคเดียวกันดีกว่า ถ้าประสิทธิไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยตั้งแต่ต้นก็ไม่เหมาะครับ เพราะโซล่าเซลล์มีอายุการใช้งานที่ยืนยาว > 20 ปี

  12. ขอบคุณสำหรับคำตอบแรกครับ
    ขออนุญาตสอบถามอีก 2 คำถามนะครับ
    1.Solar cell ถ้าระหว่างวัน มี 1 แผงที่โดนเงาบ้านบังครึ่งแผ่น มันจะทำให้ทั้ง 6 แผ่นที่ต่ออนุกรมกัน ผลิตไฟไม่ได้เลยทั้งหมดรึเปล่าครับ
    2.ผมดูค่า Setting ในชุด Inverter มีให้เซ็ทค่า PF ซึ่งเดาว่าน่าจะเป็น Power Factor ไม่ทราบว่าควรเซ็ทเป็นเท่าไรครับ

    1. 1.ในแผงจะมี bipass diode อยู่ครับ ถ้าโดนครึ่งแผง แผงอื่นก็สามารถผลิตไฟต่อได้ครับ ลองอาจหมวด diode ในเว็บ Solar Smile Knowledge เพิ่มเติมดูครับ
      2.ขึ้นอยู่ที่แต่ละยี่ห้อและคู่มือการเซ็ทครับ ถ้าไม่ชัวร์แนะนำให้ถามคนที่เราซื้อมาจะดีกว่าครับ เขาน่าจะศึกษาอุปกรณ์ยี่ห้อนั้นๆเป็นอย่างดีครับ

  13. ผมใช้inverter on grid 600w กับแผงขนาด300w*2 ต่อขนานกัน ช่วงแสงแดดเต็มที่ไฟสถานะการทำงานจาก5ดวงมันติดแค่3ดวง แสดงว่ากระแสไม่พอใช่ไหมครับ ผมควรเพิ่มแผ่น300wต่อขนานอีก1แผ่นหรือเปล่าครับ ตอนนี้แดดเต็มที่ได้ประมาณวันละ1.8หน่วยครับ

    1. ปรกติ600wควรได้วันละกี่หน่วยโดยเฉลี่ยครับ

    2. ปกติถ้าแดดดีและติดตั้งถูกทิศถูกมุมน่าจะได้วันละ 2.4 หน่วยครับ
      .
      ถ้ายังไงรบกวนคุณ som ช่วยถ่ายรูปการติดตั้ง, ยี่ห้อและสเปคของแผงโซล่าและอินเวอร์เตอร์+ขนาดของสายไฟส่งมาทาง อีเมล์ info@solarsmileknowledge.com ให้หน่อยครับ ผมจะได้ประเมินแล้วตอบได้ครับ
      .
      SSK

  14. ขอปรึกษาทางช่องทางนี้ได้ใช่ไหมครับ

  15. การต่อแผง 300 w. 10 แผง ต่อตรงเข้าปั๊มชัก 2″ มอเตอร์ DC 24v. 2.5Hp (รุ่นเก่าแบบมีถ่าน) จะต้องใช้อุปกรณ์อะไร ช่วยมอเตอร์ป่าวครับ เพราะไฟจากแผงวัดได้ 24.8v. แต่พอต่อเข้ากับมอเตอร์ ไฟจะโหลดเหลือเพียง 3-4 v. ครับ เป็นเพราะอะไร และต้องทำอย่างไร ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ที่จะใช้เพื่อแก้ไข ให้ต่อตรงใช้งานปั๊มน้ำได้ครับ หรือถ้าต้องเปลี่ยนมอเตอร์ใหม่ จะใช้แบบไหน ขนาดไหนดีครัย

    1. เรียนคุณวิทยาในเบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้นะครับ ในกรณีที่เป็นแผงมาตรฐานขนาด 300 วัตต์ จะมีแรงดันขณะใช้งาน Vmp = 36.6 โวลท์ แต่ถ้าวัดแบบไม่ต่อโหลด (Voc) ควรจะได้ประมาณ 45.3 วัตต์ครับ

      ส่วนใหญ่แล้วเวลานำไปต่อกับโหลดควรจะมีแรงดันใช้งานที่มากกว่าแรงดันที่โหลดต้องการประมาณ 1.5 เท่า ส่วนเรื่องกระแสแต่ละแผงจะผลิตได้ประมาณ 8.2 แอมป์ ต่อขนานกัน 10 แผงก็ได้ 82 แอมป์ซึ่งเพียงพอต่อการขับปั๊มขนาด 2.5 แรงม้า (ประมาณ 1862.5 วัตต์) และกินกระแสสูงสุดที่ full load ประมาณ 77 แอมป์ครับ

      ในกรณีที่แดดอ่อนกระแสที่ผลิตได้ก็จะน้อยตาม(ดูได้จาก IV-curve ในบทโซล่าเซลล์ในเว็บ) แต่ถึงอย่างไรกระแสน้อยปั๊มก็จะหมุนเหมือนกันแต่หมุนช้าครับ

      ในเบื้องต้นแนะนำให้ดูที่แรงดันขับโหลดว่าได้มากกว่าที่โหลดต้องการประมาณ 1.5 เท่าหรือไม่(ดูได้จากspecแผง) เมื่อโอเคแล้วก็ลองไปต่อทดสอบกับปั๊มในช่วงที่แดดแรงๆตอนเที่ยงจะได้กระแสเยอะเพื่อไปขับปั๊มให้หมุนครับ ค่อยๆยิงปัญหาไปทีละตัวครับ ว่าปัญหาเกิดจาก 1.แผง 2.การต่อของแผง หรือ 3.ตัวปั๊ม

  16. ขอสอบถามด้วยครับ
    ผมต้องการชาร์จไฟเข้าแบต 45A เพื่อใช้งานเครื่องปั้มน้ำ (3A) (เปิดตลอด 24 ชม.) ต้องใช้แผงขนาดกี่ W ครับ
    ปล.ตอนนี้มีแผงขนาด 20W

    1. ต้องดูจากโหลดคือปั๊มก่อนครับคุณ papa
      .
      ปั๊ม 12 v 3 a กินไฟเท่ากับ 36 w เปิด 24 ชม กินไฟต่อวัน 24×36 = 864 w ครับ
      .
      ง่ายๆก็คือต้องหาแผงมาผลิตไฟต่อวันให้ได้อย่างน้อย 864 w ครับ
      .
      ดังนั้นแผงรวมควรจะเลือกขนาดไม่ต่ำกว่า 240 w (ที่จ่ายแรงดันระบบ 12 โวลท์)
      .
      ซื้อแบตขนาดเท่าเดิมมาต่อขนานด้วยก็ดีครับ จะทำให้ระบบมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
      .
      ขอบคุณครับ
      SSK

  17. ชาร์จเจอร์ MPPT 40A Auto 12/24/36/48 Max. Power voltage 100V
    Charge ลงแบตระบบ 12V , 150Ah 4 ลูก
    ผมต่ออนุกรมแผง 300W 2 แผง ขนาน 2 ชุด 2S2P
    (ทีใช้ระบบแบต 12V เพราะบังคับที่ Inverter 12V ที่ซื้อมาแล้วครับ)

    ระบบออกแบบถูกต้องมั้ยครับ

    1. แรงดันระบบเท่าไรครับ ดูจากการต่อแผงโซล่าแล้วน่าจะใช้แรงดัน 48 โวลท์ใช่ไหมครับ ถ้าใช่ก็ต้องต่อแบตให้ได้แรงดัน 48 โวลท์ด้วยครับ
      .
      แผงมีขนาดรวม 1200 วัตต์ให้ใช้แรงดันระบบ 24 โวลท์ก็พอครับ ต่อแผงขนานกัน 4 ชุดเลยก็ได้ครับ
      .
      ส่วนแบตต่ออนุกรม 2 ลูก ขนาน 2 ชุด
      .
      อินเวอร์เวอร์ต้องใช้ 24 โวลท์ด้วยครับ
      .
      ขอบคุณครับคุณ Art

  18. ขอสอบถามหน่อยครับ ผมมีแผงโซล่าร์ 310 W Vmp 36V Imp 8.61A จำนวน 2 แผง ต่อขนานกัน ต่อเข้า Solar charger 12/24V และต่อไปยังแบตเตอรี่ 12V 32A จำนวน 4 ลูก ต่อขนานกัน ขอถามดังนี้ครับ
    1 ผมจะใช้กับปั๊มน้ำขนาด 12V 500W ได้ไหมครับ
    2 ขนาด Solar charger ควรใช้ขนาดกี่ Amp
    ปั๊มน้ำจะใช้เฉพาะกลางวันสำหรับสูบน้ำรดต้นไม้ วันนึงใช้ประมาณ 4 ชม. ส่วนกลางคืนใช้ไฟแสงสว่างหลอด 10W จำนวน 3 หลอด เปิดช่วงมืดถึงเช้าเท่านั้น
    ขอบคุณครับ

    1. ตอบคุณจิระพงษ์
      .
      โหลดมีปั๊มน้ำใช้ไฟ 500×4 = 2000 wต่อวัน และ หลอดไฟ 3 ดวงใช้ไฟ 3x10x12 = 360 w ต่อวัน รวมใช้ไฟ 2360 wต่อวัน
      .
      แผงผลิตไฟได้ประมาณ 2480 w ต่อวัน
      ให้ต่อแผง 310 วัตต์ ขนานกัน แรงดันระบบ24 V
      .
      Charger ให้เลือกขนาด 30 A เพราะแผงผลิตกระแสไฟรวม 8.61×2 = 17.22 A เผื่อขนาดให้เกินอีกประมาณ 25 %
      .
      แบตดูขนาดเล็กไปหน่อยเมื่อเทียบกับระบบ ให้ออกแบบเป็นแบต 12 V 100 A ต่ออนุกรมกัน 2 แผง แรงดันระบบรวม 24V หรือถ้าใช้แบตเดิมที่คุณจิระพงษ์ออกแบบมาก็พอได้ครับ แต่ต้องต่อแบตอนุกรม 2 ลูกและขนานกัน 2 ชุด
      .
      ระบบนี้สามารถใช้กับปั๊มน้ำ 500 w ได้ ถ้าจะให้ดีและยังอยากเดินปั๊มไว้สูบย้ำอยู่ในวันที่ไม่มีแดดหรือแดดน้อย ให้ เพิ่มขนาดแบตอย่างที่กล่าวไป

      ขอบคุณครับ
      SSK

      1. ขอบคุณครับ

  19. รบกวนสอบถามครับถ้าผมมีแบต200a3ลูกต้องการต่อ24Vต้องต่อขนาน2แล้วค่อยมาอนุกรมกับอีก1ลูกใช่ไหมครับ​

    1. อนุกรมกัน 2 ลูกครับ จะได้ 24 โวลท์
      .
      ส่วนจะทำให้สมดุลกันต้องซื้อแบตเพิ่มขนาเท่ากัน (200a) มาเพิ่มอีกหนึ่งลูก แล้วต่ออนุกรมกัน 2 ลูกเหมือนชุดแรก
      .
      หลังจากนั้นนำไปต่อขนานกับชุดแรกครับ
      .
      รวมทั้งหมด 4 ลูกต่ออนุกรม 2 ลูก 2 ชุดขนานกัน แรงดันรวม 24 โวลท์กระแสรวม 400 a ครับ
      .
      ถ้าไม่ซื้อแบตเพิ่มและต้องการแรงดัน 24 โวลท์ ให้ต่ออนุกรม 2 ลูกก็พอครับ

  20. จะใช้ไฟ 1000 วัตต์ 220 v 8 ชั่วโมงควรใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาดเท่าไหร่แบตและแบตเตอรี่ขนาดเท่าไหร่ ใช้ระบบกี่โวล์ท และใช้ อุปกรณ์อื่นๆแนะนำอะไร และเผือถ้าไม่มีแดดยังต้องใช้ไฟด้วยครับ

    1. ตอบอยู่ในหมวดของเครื่องควบคุมการชาร์จแล้วครับคุณกันพล

  21. – แผง 300w 24v × 4 แผง ต่อขนานกัน
    – แบต 12v 200a 2ลูก ต่ออนุกรม = 24v 200a
    คำถาม จากสเปค 2 ตัวบนนี้ เราจะเลือกใช้ solar charger 12v/24v(auto) แบบ mppt ขนาดสักกี่ a ดีครับ

      1. แผงโซล่า100wกับ200wต่อกันได้ไหมคับ

      2. โวลท์เท่ากันต่อได้ แต่ไม่ควรต่อครับ ควรจะให้กำลังวัตต์เท่ากันด้วย

  22. อยากสอบถามครับ ถ้าติดตั้งโซล่าเซลล์ 5k ออนกิตแล้ว เพิ่มแผงโซล่าเซลล์ ต้องเปลี่ยนตัวแปลงไฟ ไม่ครับ

    1. ต้องดูว่าขนาดรวมของโซล่าเซลล์เก่าและที่จะเพิ่มใหม่เกินกว่าที่อินเวอร์เตอร์รับไหวหรือเปล่า ถ้าเกินก็ต้องเปลี่ยนอินเวอร์เตอร์ใหม่ครับ

  23. ถ้ามีแผงโซล่าเซลล์200w12v จะมาต่อกับโซล่าเซลล์200w24v ได้ไหมคะ ใช้กับแบตค่ะ แต่โหลดเป็น12v ค่ะ

    1. ในกรณีนี้ควรจะใช้แรงดัน 12 v ครับ แผงโซล่าเซลล์ 24 v ใช้กับโหลด 12 v ไม่ได้ครับ

Leave a comment