ประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์

ประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์(Efficiency)

ตามหลักการทำงานของอินเวอร์เตอร์ คือการแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับดังนั้นในกระบวนการนี้จะมีการสูญเสียพลังงานเกิดขึ้น ประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์จึงไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซนต์ อินเวอร์เตอร์ที่มีคุณภาพ จะต้องมีค่าประสิทธิภาพที่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ตัวอย่างถ้าอินเวอร์เตอร์มีประสิทธิภาพ 90 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเราต้องใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสตรงที่ฝั่งขาเข้าอินเวอร์เตอร์ 1000 วัตต์ถึงจะได้พลังงานไฟฟ้ากระแสสลับที่ฝั่งขาออก 900 วัตต์ ดังนั้นถ้าอินเตอร์มีค่าประสิทธิภาพสูงเท่าไรก็ยิ่งดี แต่ราคาของอินเวอร์เตอร์ก็จะสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ราคาของอินเวอร์เตอร์ค่อนข้างจะสูงเมื่อเทียบกับอุปกรณ์อื่นๆที่อยู่ในระบบ ถ้าไม่จำเป็นมากก็ออกแบบเพียงใช้แค่โหลดไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ตัวแปรที่จะดูในการเลือกใช้อินเวอร์เตอร์ให้เข้ากับระบบ

1.)   ค่าป้องกันกระแสกระชาก – เนื่องจากโหลดไฟฟ้าตามบ้านนั้นจะมีค่ากระแสที่มากกว่าปกติเวลาที่เริ่มเปิดใช้งาน(เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า ตู้เย็น) ดังนั้นการเลือกอินเวอร์เตอร์จะต้องดูค่าที่ป้องกันกระแสไฟกระชาก(Surge Power) ว่ามีอัตราอยู่ที่เท่าไร ส่วนมากอินเวอร์เตอร์จะออกแบบมาให้ทนกับกระแสที่สูงในช่วงเวลาสั้นๆได้ ตัวอย่างอินเวอร์เตอร์บางตัวสามารถทนกระแสได้มากกว่า 100 เปอร์เซนต์ในหนึ่งวินาทีซึ่งเพียงพอต่อการสตาร์ทมอเตอร์ตัวไม่ใหญ่ได้

2.)   ค่าแรงดันขาเข้า แรงดันขาออกและความถี่ของอินเวอร์เตอร์ – แรงดันขาเข้า(กระแสตรง)ควรเลือกให้สอดคล้องกับแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงที่ส่งจากแผงโซล่าเซลล์(ผ่านเครื่องควบคุมการชาร์จ)และแบตเตอรี่ เช่นระบบออกแบบไว้ที่ 12 โวลท์ก็ต้องเลือก แรงดันไฟฟ้าขาเข้าของอินเวอร์เตอร์ที่ 12 โวลท์เช่นกัน ส่วนเรื่องแรงดันขาออก(กระแสสลับ)ของอินเวอร์เตอร์จะต้องเลือกให้เข้ากับโหลดไฟฟ้ากระแสสลับที่เราจะนำไปต่อด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านในประเทศไทยโดยทั่วไปจะใช้แรงดัน 220 โวลท์(V) และความถี่ 50 เฮิร์ต(Hz)

3.)   ค่าความร้อนที่มีผลต่อประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์ – ทั่วไปแล้วอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้าจะเกิดความร้อนสูงเมื่อมีการทำงานที่เต็มภาระเป็นเวลานาน อาจจะทำให้อินเวอร์เตอร์หยุดการทำงานได้ ดังนั้นควรหาอินเวอร์เตอร์ที่มีระบบระบายความร้อนที่ดี จะทำให้อินเวอร์เตอร์มีอายุการใช้งานที่ยืนยาวขึ้น

4.)   ค่าคลื่นแทรกที่เกิดในแรงดันไฟฟ้าเอาท์พุตของอินเวอร์เตอร์(Total Harmonic Distortion – THD) – ค่านี้จะมีผลทำให้โหลดที่มีขดลวดเป็นประกอบในการทำงานเช่นมอเตอร์ไฟฟ้ามีความร้อนสูง เมื่อค่า THD สูง โดยทั่วไปแล้วค่า THD ต้องน้อยกว่า 15-20 เปอร์เซนต์

5.)   ค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์(Power Factor) – มีผลกับประสิทธิโดยรวมของอินเวอร์เตอร์ในการจ่ายพลังงานให้กับโหลด ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกอินเวอร์เตอร์ที่มีค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ไม่น้อยกว่า 0.7

6.)   ความมีเสถียรภาพและการซ่อมแซม – ควรเลือกอินเวอร์เตอร์ที่มีสเถียรภาพในการจ่ายไฟฟ้าที่ภาระโหลดเต็มสูง คือไม่มีไฟฟ้าสะดุดเวลาใช้งานหรือเสียหายได้ นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมเรื่องภาระการซ่อมแซม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับอินเวอร์เตอร์ ถึงแม้จะมีประกันแต่ถ้าเราสั่งซื้อของจากต่างประเทศซึ่งไม่มีศูนย์ซ่อมที่ไทยความยุ่งยากและเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นก็มีมากกว่า อินเวอร์เตอร์ที่มีศูนย์ซ่อมที่ใกล้หรืออยู่ในประเทศ อาจจะสอบถามเงื่อนไขการรับประกันและการส่งซ่อมก่อนเลือกซื้ออินเวอร์เตอร์เพื่อเป็นข้อมูลไว้ก่อนก็ได้

 

ตารางแนะนำการเลือกอินเวอร์เตอร์สแตนอโลนให้เหมาะสมกับระบบที่ออกแบบ

แผงโซล่าเซลล์รวม(kWp) โหลดกระแสสลับที่อินเวอร์เตอร์ (kW) โหลดรวม (kWh/day) แรงดันกระแสตรงของระบบที่ออกแบบ (V)
น้อยกว่า 0.4 น้อยกว่า 1.0 น้อยกว่า 1.5 12
0.4-1.0 2.5 หรือน้อยกว่า น้อยกว่า 5.0 24
1.0-2.5 5.0 หรือน้อยกว่า 5.0-12.0 48
มากกว่า 2.5 มากกว่า 5.0 12.0-25.0 120

1 thought on “ประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์

Leave a comment