ระบบโซล่าเซลล์ออฟกริด(Off-grid System)

ระบบโซล่าเซลล์ออฟกริด (Off-grid System)

คือระบบที่ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ที่ไม่ปฏิสัมพันธ์กับผู้ให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่(ในประเทศไทยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต,นครหลวง หรือภูมิภาค) ระบบออฟกริดนี้จะแยกเดี่ยวออกมาโดยผู้ติดตั้งโซล่าเซลล์จะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการไฟฟ้า ซึ่งสามารถแยกหมวดย่อยลงไปได้อีกตามลักษณะแรงดันไฟฟ้าที่จะใช้งานว่าเป็น ไฟฟ้ากระแสตรง หรือ ไฟฟ้ากระแสสลับ โดยต้องเลือกโหลด(เครื่องใช้ไฟฟ้า)ให้เหมาะสมกับแรงดันที่ใช้

ระบบออฟกริดนี้อาจมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษอีกแบบหนี่งว่าระบบแสตนด์อโลน(Stand Alone System)หรือระบบแยกเดี่ยว ซึ่งมีวิธีการต่อระบบที่หลากหลาย ทั้งต่อโหลดกระแสตรงกับแผงโซล่าเซล่าเซลล์(ซึ่งผลิตไฟฟ้ากระแสตรง)โดยตรง หรือนำไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตได้จากแผง ไปแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ(โดยอินเวอร์เตอร์)สำหรับไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือนซึ่งใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับอยู่แล้วได้ ระบบสแตนด์อโลนในแบบต่างๆมีดังนี้

ใช้กับโหลดกระแสตรง
ก.)แผงโซล่าเซลล์ต่อตรงกับโหลด ส่วนใหญ่จะใช้กับโหลดกระแสตรงอาทิ ปั๊มน้ำกระแสตรงแบบปรับความเร็วรอบได้ พบเห็นได้ทั่วไปกับระบบสูบน้ำ
SA1_w
ข.)แผงโซล่าเซลล์ต่อพ่วงกับแบตเตอรี่และโหลดกระแสตรง ข้อดีของการต่อระบบแบบนี้คือเมื่อไม่มีแสงอาทิตย์ เราก็ยังสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จ่ายให้กับโหลดได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่มากเกินไปเพราะอาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็ว นอกจากนี้เวลาที่นำพลังงานไฟฟ้าที่เก็บสะสมในแบตเตอรี่ออกมาใช้ต้องระวังอย่างให้แบตเตอรี่คลายประจุมากเกินกว่าที่สเปคของแบตเตอรี่ที่ระบุไว้เพราะอาจจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วเช่นกัน ส่วนใหญ่การต่อระบบแบบนี้จะใช้งานกับเรือขนาดเล็ก กระท่อมขนาดเล็ก และใช้กับระบบส่องสว่างเท่านั้น
SA2_w
ค.) แผงโซล่าเซลล์ที่มีเครื่องควบคุมการชาร์จประจุให้กับแบตเตอรี่ซึ่งจ่ายไฟให้กับโหลดกระแสตรง ข้อดีของการมีเครื่องควบคุมการชาร์จประจุคือสามารถควบคุมการไหลของประจุไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ได้และจะหยุดการชาร์จเมื่อไฟที่เก็บในแบตเตอรี่มีแรงดันเกินกว่าที่ตั้งค่ากำหนดไว้ จึงทำให้แบตเตอรี่มีอายุที่ยาวนานมากขึ้น การต่อแบบระบบนี้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ใช้กับบ้านพักอาศัยที่ห่างไกลผู้ผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง รวมทั้งอาจจะไปประยุกต์ใช้กับในพื้นที่ที่ไม่ต้องการลากสายไฟฟ้าไปเพราะมีต้นทุนเรื่องสายไฟฟ้าที่มีราคาสูงได้อีกด้วย
SA3_w

ใช้กับโหลดกระแสตรงและกระแสสลับ

ง.)แผงโซล่าเซลล์ต่อกับเครื่องควบคุมการชาร์จแบตเตอรี่โดยที่มีตัวอินเวอร์เตอร์แปลงจากไฟกระแสตรงเป็นไฟกระแสสลับเพื่อจ่ายให้กับโหลดที่ใช้กับกระแสสลับได้ โดยไฟกระแสตรงที่ออกจากแบตเตอรี่ก็ยังสามารถจ่ายให้กับโหลดกระแสตรงได้อีกด้วย ระบบแบบนี้มีข้อดีคือมีความยืดหยุ่นในการหาเครื่องใช้ไฟฟ้ามาใช้งานเพราะโดยทั่วไปแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับ ยกตัวอย่างอาจจะใช้พัดลมกับไฟกระแสสลับที่แปลงจากอินเวอร์เตอร์ และใข้ระบบไฟส่องสว่างกับไฟกระแสตรงก็ได้
SA5_with_ac_dc_mix_w

ทั้งหมดนี้คือระบบออฟกริดซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าและพึ่งพาตนเองได้ทั้งหมด

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วในระบบโซล่าเซลล์ ไม่ได้มีแผงโซล่าเซลล์เพียงแผงเดียว การต่อแผงโซล่าเซลล์หลายแผงเข้าด้วยกันจะมีทั้งการต่อแบบอนุกรม แบบขนาน หรือผสมกันขึ้นอยู่กับระบบที่เราออกแบบและความเหมาะสมกับการใช้งาน ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้การต่อแผงควบคู่กันไปด้วย

Leave a comment